สวัสดีค่ะ

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซด์ http://sunisajoonlao.blogspot.com/ เชิญรับชมได้แล้วค่ะ







วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

           ดอกไม้ในวรรณคดีไทย หมายถึงดอกไม้ที่บรรดากวีไทยท่านได้พรรณาไว้เป็นบทร้อยกรองอย่างไพเราะในหนังสือวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์  อิเหนา เงาะป่า ดาหลัง ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี บทเห่เรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงนิราศทองแดง นิราสหริภุญชัย นิราศพระประธม นิราศสุพรรณ นิราศเมืองแกลง นิราศภูเขาทอง นิราศอิเหนา นิราศเจ้าฟ้าลิลิตพระลอ และลิลิตตะเลงพ่าย

           เป็นความสามารถเฉพาะตัวของกวีไทยที่ได้พรรณาชื่อดอกไม้หลายชนิดไว้อย่างไพเราะทั้งลักษณะ สีสัน กลิ่น ทำให้ผ้อ่านเกิดมโนภาพ ประทับใจ เหมือนได้ไปอยู่ ณ ที่ด้วย
ดอกกรรณิการ์



“…กรรณิการ์  ก้านสีแดงสด
คิดผ้าแสดติดขลิบนาง
เห็นเนื้อเรื่อโรงราง
ห่มสองบ่าอ่าโนเน่…”

วรรณคดี :  กาพย์ห่อโคลง  “นิราศธารโศก”
ผู้ประพันธ์ :  เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
ชื่อพฤกษศาสตร์    :  Nyctanthes arbor – tristis
ชื่อสามัญ            :  Night Jasmine
ชื่อวงศ์               :  Verbenaceae

              กรรณิการ์เป็นพุ่มไม้ขนาดเล็ก  สูงประมาณ ๑ - ๒ เมตร  ใบสากคาย  ขอบใบเป็นจักตื้น ๆ และใบออกทิศทางตรงข้ามกัน ดอกสีขาว  ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง  ลักษณะคล้ายดอกมะลิ  แต่มีขนาดกลีบแคบกว่า  ปลายกลีบมี ๒ แฉก  ขนาดไม่เท่ากัน  โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีส้มสด  ดอกบานส่งกลิ่นหอมในเวลากลางคืน  และจะร่วงในเช้าวันรุ่งขึ้น ผลมีลักษณะกลมแบน  ขณะอ่อนมีสีเขียว  เมื่อแก่เป็นสีดำ การขยายพันธุ์ ใช้ตอนกิ่ง ทางด้านสมุนไพร  เปลือกให้น้ำฝาด  เปลือกชั้นในเมื่อผสมกับปูนขาวจะให้สีแดง  ดอกมีน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้  เช่นเดียวกับมะลิ  ส่วนของดอกที่เป็นหลอด  สกัดเป็นสีย้อมผ้าไหม  ใบใช้แก้ไข้และโรคปวดตามข้อ  น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาระบาย  และเป็นยาขมเจริญอาหาร

ผกากรอง


“…มะลิวัลย์พันระกำขึ้นแกมจาก
ได้สามวันกรรมพรากไปจากห้อง
จำปีเคียงโศกระย้า  ผกากรอง
พี่โศกเศร้าเฝ้าตรองกว่าสองปี…”

วรรณคดี :  “ขุนช้างขุนแผน”
ผู้ประพันธ์ :  สุนทรภู่
ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Lantana  camara, L.
ชื่อสามัญ          :  Cloth  of Gold,  Hedge  Flower,  Weeding  Lantana
ชื่อวงศ์             :  Verbenaceae
ชื่ออื่น ๆ            :  ก้ามกุ้ง  เบญจมาศป่า  ขะจาย  ขี้กา  คำขี้ไก่  เบ็งละมาศ  ไม้จีน

             ผกากรองเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ ๒ - ๖ ฟุต  ขึ้นได้ในดินทุกชนิด  ชอบแล้งมากกว่าแฉะ  ชอบแสงแดดจัด  นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อดูดอกเพราะผกากรองให้ดอกสวยและดกตลอดปี ใบเป็นรูปไข่  ริมใบหยักเป็นจัก  ใบคายสากมือ  มีกลิ่นเหม็น      ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นกระจุก  ขนาดโตประมาณ ๑ - ๑.๕ นิ้ว  มีหลายสี  เช่น  เหลืองอ่อน  แดง  ขาว  ม่วง  ชมพู  เหลืองเข้ม การขยายพันธุ์  ใช้วิธีเพาะเมล็ด  หรือตัดกิ่งปักชำ สรรพคุณทางสมุนไพร  ใบตำพอกแผล  ฝีพุพอง  ใบต้มน้ำอุ่นอาบ  หรือแช่แก้โรคปวดข้อ

พิกุล



“…เสือมองย่องแอบต้นตาเสือ
ร่มหูกวางกวางเฝือฝูงกวางป่า
อ้อยช้างช้างน้าวเป็นราวมา
สาลิกาจับกิ่งพิกุลกิน…”

วรรณคดี : “ขุนช้างขุนแผน”
ผู้ประพันธ์ :  สุนทรภู่
ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Mimusope  elengi, L.
ชื่อสามัญ          :  Bullet  Wood
ชื่อวงศ์             :  Sapotaceae

             พิกุลเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง  กิ่งก้านค่อนข้างแจ้  แบน  คล้ายต้นหว้า  มีพุ่มใบแน่น  เหมาะสำหรับปลูกไว้บังแดดตอนบ่าย  ดอกมีกลิ่นหอม   ใบเป็นใบเดี่ยว  สีเขียวเข้ม  ปลายแหลมมน  มีขนาดใบกว้างประมาณ ๗ ซ.ม. ยาวประมาณ ๑๕ ซ.ม. เส้นกลางใบด้านท้องใบนูน  ก้านใบยาวประมาณ ๓ ซ.ม.    ดอกออกเป็นช่อ  เป็นกระจุก  ดอกมีขนาดเล็กกว้างประมาณ ๑ ซ.ม.  กลีบดอกเล็กแคบยาวเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มองดูริมดอกเป็นจักเล็ก    ผลกลมโตคล้ายละมุดสีดา  แต่เล็กกว่าเล็กน้อย  ผลสุกสีแดงแสด  ใช้รับประทานได้  รสฝาดหวานมัน การ      ขยายพันธุ์  ใช้เพาะเมล็ด หรือ ตอนกิ่ง ทางด้านสมุนไพร  เปลือกใช้ต้มเอาน้ำอมเป็นยากลั้วล้างปาก  แก้ปากเปื่อย  ปวดฟัน  ฟันโยกคลอน  เหงือกบวม  เป็นยาคุมธาตุ  ดอกแห้งใช้ป่นทำยานัตถุ์  แก้ไข้  ปวดศรีษะ  เจ็บคอ  แก้ปวดตามร่างกาย  แก้ร้อนใน  เมล็ดตำละเอียดปั้นเป็นยาเม็ดสวนทวาร

สุพรรณิการ์



“…เล็บนางงามแสล้ม
ต้นนางแย้มแกมดองดึง
สุพรรณิกากากระทึง
ดอกราชพฤกษ์ซึกไทรไตร…”

วรรณคดี : กาพย์ห่อโคลง “ นิราศธารทองแดง”
ผู้ประพันธ์ : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์  “เจ้าฟ้ากุ้ง”
ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Cochlospermum  religiosum
ชื่อสามัญ          :  Yellow  Slik-Cotton  Tree,  Butter-Cup  Tree
ชื่อวงศ์             :  Bixaceae

            สุพรรณิการ์มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า  “ฝ้ายคำ”  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ ๓ -๗ เมตร  ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด  ชอบแสงแดดจัด  ออกดอกหลังจากใบร่วงหมดในราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ใบมีลักษณะมน  ขอบเว้าเป็น ๕ แฉก  กว้างประมาณ ๖ นิ้ว  ยาวประมาณ ๘ นิ้ว  ท้องใบมีขนอ่อน ดอกใหญ่มี ๕ กลีบ  สีเหลืองสด  กลีบดอกงุ้มเข้าหากันคล้ายถ้วย  ดอกมีขนาดกว้างประมาณ ๕ นิ้ว  กลางดอกมีเกสรตัวผู้มากมาย  เมื่อดอกโรยจะติดผล ผลมีลักษณะกลมรี  ภายในผลมีเมล็ดมีปุยคล้ายปุยฝ้าย การขยายพันธุ์  ใช้วิธีเพาะเมล็ด

กุหลาบมอญ


“…เที่ยวชมแถวขั้นรุกขชาติ
ดอกเกลื่อนดกกลาดหนักหนา
กาหลงกุหลาบกระดังงา
การะเกดกรรณิการ์ลำดวน…”
      
วรรณคดี  :  “รามเกียรติ์”
ผู้ประพันธ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ชื่อพฤกษศาสตร์  :  Rosa damascema, Mill.
ชื่อสามัญ          :  Damask Rose, Persia Rose, Mon Rose
ชื่อวงศ์             :  Rosaceae

               กุหลาบมอญเป็นไม้ดอกประเภทไม้พุ่มผลัดใบ  ลำต้นตั้งตรง  กิ่งก้านมีหนาม  พุ่มสูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร  อายุยืน  แข็งแรง  เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดจัดอย่างน้อยวันละ ๖ ชั่วโมง  จึงควรปลูกในที่โล่งแจ้งแต่ควรเป็นที่อับลม  ขึ้นได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์พอ  ชอบน้ำ  แต่ไม่ชอบน้ำขัง  ดินจึงต้องระบายน้ำได้ดี  ชอบอากาศร้อนในตอนกลางวัน  และอากาศเย็นในตอนกลางคืน  กุหลาบมอญนี้ถือได้ว่าเป็นกุหลาบพื้นเมืองของไทย  ใบเป็นใบประกอบชนิดขนนก  มีหูใบ ๑ คู่  มีใบย่อย ๓ - ๕ ใบ  ในก้านช่อใบหนึ่ง ๆ ใบจัดเรียงแบบสลับ  ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน  มีรอยย่นเล็กน้อย  ขอบใบเป็นจักละเอียด  เส้นกลางใบด้านท้องใบมีหนามห่าง ๆ   ดอกมีลักษณะค่อนข้างกลม  กลับดอกเรียงซ้อนกันหลายชั้น  วนออกนอกเป็นรัศมีโดยรอบ  ดอกมีสีชมพูอ่อน  สีชมพูเข้ม  ดอกมักออกเป็นช่อ  ทางปลายกิ่ง  กลีบดอกมีลักษณะปลายแหลมเรียว การขยายพันธ์ใช้วิธีตอนกิ่ง

ช้องนาง



 “นาเวศเคลื่อนคล้อยคลา          ล่วงลอยตามชลธาร
ชมไม้ในอุทยาน                      บานเกลื่อนกล่นหล่นเรี่ยราย
ช้องนางนางคลี่ไว้                    คิดทรามวัยเคยสรงสยาย
กลิ่นร่ำน้ำอบอาย                     ไม่วายว่างห่างหอมเอยฯ”

(กาพย์เห่เรือ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia repens Linn.
ชื่อภาษาอังกฤษ Bush Clock Vine

          ช้องนางเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอาฟริกา เป็นไม้พุ่มเตี้ย แตกกิ่งก้านหนาแน่นใบมนปลาย ใบแหลม ดอกมีสีม่วงเข้ม รูปกรวยปากแตร มีกลีบ ดอก 5 กลีบ ออกดอกได้ตลอดปี สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งในที่รำไรและกลางแจ้ง ขยายพันธุ์ได้โดยการตัดชำหรือการตอน



                                                  คลิปแนะนำ " ดอกไม้ในวรรณคดีไทย "